You are currently viewing Hylife Group and CAMT Empower Digital Workforce

กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งยกระดับศักยภาพบุคลากรด้าน IT ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล

กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งยกระดับศักยภาพบุคลากรด้าน IT ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล

กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ ผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ การจัดการบริหารสินทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Integration: DII) ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล พร้อมมอบทุนสนับสนุนจำนวน 1,230,000 บาท ให้แก่วิทยาลัยฯ เพื่อการพัฒนาบุคลากร และร่วมมือด้านงานวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ตลอดจนโครงการต่างๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ภายในงานเมื่อเร็วๆ นี้ (6 ม.ค. 68) ได้รับเกียรติจากผู้บริหารกลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ นำโดย นายชูโบดีป ดัส (Mr.Shubhodeep Das) ประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่บริหาร, นายดานูซ รามาซานแดรน แนร์ (Mr.Dhanush Ramachandran Nair) รองประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่บริหาร และนางวัชราภรณ์ ลิน (Mrs.Watcharaphon Lin) กรรมการบริหาร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดี, ดร.ศุทธินีสวัสดิ์ซิตัง ประธานหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Integration: DII) และดร.ทมะ ดวงนามล อาจารย์หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Management: DTM) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ท่ามกลางผู้มีเกียรติ ผู้บริหารและคณาจารย์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายชูโบดีป ดัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ เปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้เกิดจากการตกลงให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน Platform Developer ผ่านหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล (DII) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรด้านทักษะดิจิทัล และการสนับสนุนงานวิจัยร่วมกัน “บริษัทให้ความสนใจร่วมโครงการกับวิทยาลัย เพราะเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล โดยให้ความสนับสนุนด้านทุนการศึกษา และงานวิจัย ซึ่งโครงการนี้จะมีการดำเนินการต่อเนื่องระยะยาว โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาหลักสูตร อุตสาหกรรมดิจิทัล (DII) ซึ่งจะได้รับทุน และโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการวิจัย”

นายชูโบดีป กล่าวถึงความความคาดหวังจากการร่วมมือครั้งนี้ว่า “จะเป็นโครงการที่สามารถช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลเป็นพื้นฐาน โดยมีพื้นที่ให้ได้ลงมือทำ ได้ลองเรียนรู้การทำงานจริงหลังจากจบหลักสูตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัลของจังหวัดเชียงใหม่ และขยายผลในระดับประเทศต่อไป โอกาสนี้ กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 1,230,000 บาท มอบให้แก่วิทยาลัยฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและกิจกรรมต่างๆ เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้าน ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “วิทยาลัยให้ความสนใจร่วมโครงการนี้ เพราะเห็นว่าการร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ไฮไลฟ์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ จะเอื้อต่อการพัฒนาหลักสูตร และเพิ่มโอกาสในการฝึกฝนทักษะ และได้ประยุกต์ใช้ความรู้สู่การทำงานจริง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งกับนักศึกษา ขณะที่วิทยาลัยเองก็มีความพร้อมด้านผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภายในและภายนอกมาร่วมสอน และแบ่งปันประสบการณ์ในด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี”

ผศ.ดร.วรวิชญ์ กล่าวต่อไปถึงขั้นตอนในการดำเนินโครงการ จะมีการจัดฝึกอบรมและวิจัยร่วมกัน พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างวิทยาลัย และบริษัทในกลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ โดยมีแผนในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด จากโจทย์ที่ได้รับจากการดำเนินการจริงของบริษัทในเครือ กลุ่มบริษัทไฮไลฟ์ นำมาออกแบบ และปรับให้สามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง และช่วยเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งวิทยาลัยฯ เชื่อมั่นว่า จะสามารถพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะพร้อมทำงานในอุตสาหกรรมต่อไป

“หลักสูตรนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล สำหรับคุณสมบัติผู้เรียนในหลักสูตรนี้ จะต้องมีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือมีความสนใจเกี่ยวกับดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยจะได้เรียนรู้ด้านการจัดการธุรกิจดิจิทัล, การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิเคราะห์ข้อมูล” คณบดี CAMT กล่าว

นับเป็นโครงการที่น่าชื่นชม ในความร่วมมือเพื่อยกศักยภาพบุคลากรด้าน IT หรือผู้ที่มีทักษะดิจิทัลเป็นพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลที่มีมากขึ้น